วิวัฒนาการของโทรศัพท์
การติดต่อสื่อสารทางไกล ในสมัยโบราณ ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้น จะใช้วิธีการง่ายๆ อาศัยธรรมชาติ หรือเลียนแบบ ธรรมชาติ เป็นหลัก เช่น การใช้ควัน เสียง แสง หรือใช้นกพิราบ เป็นต้น การสื่อสารที่ใช้ชื่อดังกล่าวนั้น จะไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก เนื่องจากไม่สามารถให้รายละเอียดข่าวสารได้มาก หรือแม้จะให้รายละเอียดได้มาก แต่ก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยเท่าใด เช่น นกพิราบ นำสารซึ่งให้รายละเอียดได้มาก แต่เป็นการเสี่ยง เพราะนกพิราบ อาจไปไม่ถึง ปลายทางได้ อย่างไรก็ตามการสื่อสารดังกล่าวนี้ เป็นการสื่อสารที่ราคาถูก ความรวดเร็วก็พอใช้ได้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุค โลกาภิวัฒน์ เป็นยุคแห่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยี มนุษย์ได้นำเอาเทคโนโลยี ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับการสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งความ สะดวกสบาย รวดเร็วและถูกต้อง ชัดเจน แน่นอน
ระบบสื่อสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายชนิด เช่น วิทยุสื่อสาร (Radio Communication) โทรเลข (Telegraphy) โทรพิมพ์ (Telex) โทรศัพท์ (Telephone) โทรสาร (Facsimile) หรือวิทยุตามตัว (Pager) เป็นต้น แต่ระบบสื่อสาร ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกก็คือ โทรศัพท์ เพราะโทรศัพท์สามารถโต้ตอบกันได้ทันที รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งระบบ อื่น ๆ ทำไม่ได้ โทรศัพท์จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและในโลกของการสื่อสารปัจจุบัน โทรศัพท์ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ ถึงความเจริญ รุ่งเรืองของประเทศ ต่าง ๆ ด้วย
ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มมีการใช้งานครั้งแรกที่ชิคาโก เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า ระบบเอเอ็มพีเอส (AMPS) หรือระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 1 (First Generation-1G) หรือ 1G และเป็นระบบที่มีการติดต่อระหว่างสถานีเคลื่อนที่ และสถานีฐานที่ใช้แบบเอฟดีเอ็มเอ (FDMA-Frequency Division Multiple Access) โดยที่สัญญาณเสียงพูดจะถูกส่งแบบอนาล็อก นอกจากระบบเอเอ็มพีเอส แล้วยังมีระบบของยุโรป คือ เอ็นเอ็มที (NMT) ของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และแทคส์ (TACS)
ต่อมาได้มีการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่สอง (Second Generation) หรือ 2จี (2G) เพื่อให้ระบบมีความจุ (Capacity) เพิ่มขึ้น และมีระบบความปลอดภัย (Security) ของสัญญาณที่ส่งและรับ การป้องกันการใช้เครื่องมือที่ไม่ได้ลงทะเบียน ระบบ 2จี จะใช้หลักการทีดีเอ็มเอ (TDMA-Time-Division Multiple Access)
ประกอบด้วย ดีเอเอ็มพีเอส (DAMPS) ของสหรัฐ จีเอสเอ็ม (GSM) ของยุโรป ไอเอส-95 (IS-95) หรือซีดีเอ็มเอวัน (cdmaOne) ของสหรัฐ และพีดีซี (PDC) ของญี่ปุ่น
สำหรับระบบโทรคมนาคมรุ่นที่สาม (Third Generation) หรือ 3จี (3G) นั้น ได้มีองค์กรที่วิจัยและพัฒนาระบบ 3จี หลายองค์กรทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆ โดยมีการศึกษามากว่าสิบปี ปัจจุบันเอ็นทีที โดโคโม ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ได้เปิดให้บริการ 3จีในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของบริการ 3จี คือ ความต้องการที่จะให้มีมาตรฐานเดียวกัน (มาตรฐาน IMT2000) เพื่อสถานีเคลื่อนที่ใดๆ สามารถใช้ได้ทั่วโลก และความต้องการที่จะให้มีการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น และเพียงพอกับการใช้งานมัลติมีเดีย โดยที่มีคุณสมบัติทัดเทียมกับระบบโทรคมนาคมมีสาย (Fixed line) ในราคาที่เหมาะสม